โรคเหน็บชา คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า โรคเหน็บชาเป็นโรคที่พบได้ในคนที่ผอมแห้งแรงน้อย แต่แท้จริงแล้วในคนทั่วไปก็ป่วยเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน เพราะพฤติกรรมการกินที่ขาดวิตามินบี 1 ทั้งจากการกินแต่ข้าว อาหารขยะต่าง ๆ หรืออาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1
โรคเหน็บชา
โรคเหน็บชา (Beriberi) หรือ โรคขาดวิตามินบี 1 เป็นโรคที่พบได้บ่อยในท้องที่ชนบทบางแห่ง โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ภาคอีสาน เป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุหลักมาจากการขาดวิตามินบี 1 (วิตามินบีหนึ่ง) ซึ่งเป็นวิตามินที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้เอง ต้องได้รับจากอาหารหรืออาหารเสริม โดยผู้ป่วยจะมีอาการทางคลินิกหลายแบบขึ้นอยู่กับอายุและอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็นโรคเหน็บชาในเด็กและโรคเหน็บชาในผู้ใหญ่
วิตามินบี 1 (Vitamin B1) หรือ ไทอะมีน (Thiamine) มีหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ทำให้เกิดพลังงานเพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการทำงานของระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการนำกระแสความรู้สึกของเส้นประสาท ถ้าร่างกายได้รับวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอก็จะทำให้เป็นโรคเหน็บชาได้ (วิตามินบี 1 มีคุณสมบัติพิเศษคือไม่มีพิษตกค้าง ถ้าร่างกายได้รับมากเกินไปก็จะขับออกมาทันที)
สาเหตุโรคเหน็บชา
- โรคเหน็บชามักมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในผู้ที่ชอบรับประทานข้าวที่ขัดสีจากโรงสีที่มีวิตามินบี 1 อยู่น้อย มิหนำซ้ำยังซาวข้าวและหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ ซึ่งจะทำให้สูญเสียวิตามินบี 1 ไปอีก ส่วนอาหารที่ให้วิตามินบี 1 สูงอย่างเนื้อสัตว์หรือถั่วก็รับประทานน้อย
- เกิดจากการกินอาหารที่มีสารทำลายหรือยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี 1 มากเกินไป เช่น ใบชา ใบเมี่ยง หมากพลู ปลาร้า ปลาส้มดิบ แหนมดิบ หอยลายดิบ ปลาน้ำจืดดิบ สีเสียด เป็นต้น
- เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีการเผาผลาญอาหารเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงต้องการวิตามินบี 1 สูงขึ้นด้วย เช่น ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กในช่วงวัยเจริญเติบโต ผู้ใช้แรงงานหรือต้องทำงานหนัก (โดยเฉพาะกรรมกร ชาวนา) ผู้ป่วยที่มีไข้สูง ผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อ ผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เป็นต้น
- นอกจากนี้ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น จากการเป็นโรคหรือการผ่าตัดเกี่ยวกับทางเดินอาหาร, การฟอกไต (Dialysis), เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism), เป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางพันธุกรรม (Genetic deficiencies) เป็นต้น
การรักษาโรคเหน็บชา 9 วิธี
- แพทย์จะให้วิตามินบี 1 ในขนาด 10-20 มิลลิกรัม โดยการกินหรือฉีดให้วันละ 2-3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ (ผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ควรใช้ชนิดฉีดในขนาด 100 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 5-7 วัน) ต่อจากนั้นให้แบบกินในขนาด 10 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลาอีกหลายสัปดาห์ (แพทย์อาจทำการตรวจเลือดเพื่อดูว่าร่างกายตอบสนองต่อวิตามินบี 1 นั้นด้วยหรือไม่ต่อไป)
- ในรายที่สงสัยว่ามีภาวะหัวใจวาย แพทย์จะฉีดวิตามินบี 1 ให้ในขนาด 25-50 มิลลิกรัม และให้ยาขับปัสสาวะ เช่น ฟูโรซีไมด์ (Furosemide) ½ – 1 หลอด และถ้าจำเป็นอาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด และตรวจพิเศษอื่น ๆ แล้วให้วิตามินบี 1 และให้การรักษาแบบภาวะหัวใจวาย
- โรคนี้อาจพบได้ในผู้ใช้แรงงานหนักหรือชายฉกรรจ์ที่มีร่างกายบึกบึน ที่รับประทานข้าวขาวอย่างเดียวในปริมาณมากแต่ไม่มีวิตามินบี 1 และรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 น้อย ก็สามารถทำให้เกิดภาวะพร่องวิตามินบี 1 ได้ ดังนั้นถ้าพบอาการที่ชวนสงสัยว่าเป็นโรคเหน็บชาในคนเหล่านี้ แพทย์จะให้การรักษาด้วยการกินวิตามินบี 1 ทันที รวมถึงให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินใหม่
วิธีป้องกัน โรคเหน็บชา
- ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินบี 1 สูง เช่น เนื้อหมูไม่ติดมัน ปลา ตับ ไต นม ไข่แดง ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ จมูกข้าวสาลี รำข้าว เปลือกข้าว โฮลเกรน เมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี ถั่วต่าง ๆ (เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วกรีนบีน ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว) บริวเวอร์ยีสต์ ผัก หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด แตงโม น้ำส้ม เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีลูกอ่อนที่ต้องให้นมลูก และผู้ที่ต้องทำงานหนัก ควรแน่ใจว่าตัวเองได้รับอาหารที่มีวิตามินบี 1 อย่างเพียงพอ (สำหรับผู้ใหญ่ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันคือ 1-1.5 มิลลิกรัม และ 1.5-1.6 มิลลิกรัม สำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร)
- ผู้ที่ชอบดื่มสุราควรเลิกหรือลดปริมาณให้น้อยลง ไม่ดื่มเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายได้รับและสะสมวิตามินบี 1 อย่างเพียงพอ
- ควรรับประทานข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้องแทนข้าวขาวที่จัดสีจากโรงงาน และควรหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำหรือซาวข้าวหลายครั้ง เพื่อให้ได้มีวิตามินบี 1 สูงสุด (การซาวข้าวและหุงแบบเช็ดน้ำจะสูญเสียวิตามินบี 1 ไปประมาณ 50% การแช่ข้าวเหนียวค้างคืน เทน้ำทิ้งแล้วนึ่งทำให้สูญเสียวิตามินบี 1 ไปประมาณ 60%, การหุงต้มเนื้อสัตว์จะทำให้สูญเสียวิตามินบี 1 ไปประมาณ 25-85% ส่วนการต้มผักจะทำให้สูญเสียวิตามินบี 1 ได้สูงถึง 60%)
- ลดการรับประทานอาหารที่มีสารทำลายหรือยับยั้งการดูดซึมวิตามินบี 1 เช่น ชา กาแฟ ใบเมี่ยง หมากพลู ปลาร้า ปลาส้มดิบ แหนมดิบ หอยลายดิบ ปลาน้ำจืดดิบ สีเสียด เป็นต้น แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรทำควรทำให้สุกก่อน โดยเฉพาะปลาร้า หรือให้ดื่มน้ำชาหรือเคี้ยวใบเมี่ยงหรือหมากพลูในระหว่างมื้ออาหาร อย่าเสพหลังอาหารทันที (พวกปลาและหอยบางชนิดจะมีเอนไซม์ที่เรียกว่า Thiaminase โดยมีฤทธิ์ย่อยสลายวิตามินบี 1 ซึ่งการปรุงให้สุกจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ส่วนชา กาแฟ หมาก เมี่ยง พลู จะมีสาร Tannic acid และ Caffeic acid ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี 1)
- สำหรับโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก คนชรา และเรือนจำหรือสถานกักกัน ควรจัดหาข้าวกล้องให้รับประทาน ปรับรายการอาหารให้หลากหลาย สุก สด ใหม่ และครบถ้วนทั้ง 5 หมู่
- หากเกิดการระบาดของโรคควรแจ้งสำนักงานสาธารณสุขในการสอบสวนโรคและมีแผนการคัดกรองภาวะโภชนาการ
ผู้ป่วยที่เป็นเหน็บชาแล้วไม่ทำการรักษามักจะเสียชีวิต แต่ถ้าทำการรักษาอาการก็มักจะหายไปอย่างรวดเร็ว หัวใจที่ถูกทำลายก็จะฟื้นกลับมาได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการหัวใจล้มเหลวอย่างเฉียบพลันแล้วก็ยากที่จะทำการรักษาได้ และเช่นเดียวกับระบบประสาทก็สามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพได้หากรีบรักษาแต่แรก แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่รีบรักษาแต่แรก อาการบางอย่าง เช่น ความจำเสื่อม ก็จะยังคงอยู่ต่อไป แม้จะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม